รถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (อู่ตะเภา-สุวรรณภูมิ-พญาไท-ดอนเมือง) (อังกฤษ: Suvarnabhumi Airport Rail Link, Airport Link) หรือ แอร์พอร์ตเรลลิงก์ หรือ แอร์พอร์ตลิงก์ หรือชื่อโครงการอย่างเป็นทางการว่า โครงการระบบขนส่งมวลชนทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และสถานีรับ-ส่งผู้โดยสารอากาศยานกรุงเทพมหานคร เป็นโครงการระบบขนส่งมวลชนแบบพิเศษ ที่เป็นส่วนหนึ่งในโครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟฟ้าในระบบรถไฟฟ้าชานเมือง โดยรัฐบาลได้นำโครงการนี้มาเป็นโครงการเร่งด่วนและแยกการก่อสร้างต่างหากจากระบบรถไฟฟ้าชานเมือง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการระบบขนส่งมวลชนทางราง ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ดำเนินการก่อสร้างโดยรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์โดย บริษัท รถไฟฟ้า รฟท. จำกัด ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจในกระทรวงคมนาคม อีกทั้งยังเป็นบริษัทลูกของการรถไฟแห่งประเทศไทยโดยตรง เนื่องจากคณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย (บอร์ด รฟท.) ชุดเก่านั้นไม่ยินยอมที่จะให้เอกชนเข้ามาดำเนินการแทน
รถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เริ่มก่อสร้างโครงการเมื่อ พ.ศ. 2549 (ค.ศ. 2006) และหลังจากที่เกิดความล่าช้าขึ้นในหลายต่อหลายครั้ง ทั้งในเรื่องข้อสรุปของผู้ดำเนินการรถไฟฟ้า ความปลอดภัยโดยรวมของทั้งระบบ รวมไปถึงการที่ผู้รับเหมาไม่ยอมเซ็นต์โอนโครงการให้เป็นของการรถไฟแห่งประเทศไทย และความล่าช้าในการก่อตั้งบริษัทดำเนินการ จนในที่สุดรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ก็เริ่มดำเนินการเปิดทดสอบแบบวงจำกัดครั้งแรกเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2552 ซึ่งการทดสอบดังกล่าวผู้เข้าร่วมทดสอบจะไม่สามารถเข้าไปในเขตของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้ จากนั้นก็ได้เปิดทดสอบแบบไม่จำกัดจำนวนอีกครั้งในวันที่ 5 ธันวาคม-7 ธันวาคม พ.ศ. 2552 ซึ่งเป็นการทดสอบของระบบการเดินรถอัตโนมัติอีกด้วย จากนั้นก็ได้ทดสอบระบบกับสื่อมวลชนกลุ่มเล็กๆ เรื่อยมาจนถึงช่วงเดือนเมษายน พ.ศ. 2553 ซึ่งจะเป็นกำหนดการเปิดทดสอบการเดินรถทั้งระบบอย่างเป็นทางการ แต่เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าว ได้เกิดเหตุวิกฤตการณ์ทางการเมืองขึ้น ทำให้ต้องเลื่อนการทดสอบจริงออกไปเป็นวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2553 ซึ่งดำเนินการเปิดทดสอบฟรีในช่วงเช้าและเย็น จากนั้นก็ได้ทำการเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2553 โดยมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ในขณะนั้นเป็นประธานในพิธีเปิดรถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
โดยรถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเป็นระบบรถไฟฟ้าที่มีทั้งโครงสร้างใต้ดินและยกระดับ มีแนวเส้นทางที่รองรับการเดินทางจากชานเมืองด้านตะวันออกและทิศเหนือ และผู้โดยสารจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เข้าสู่เขตใจกลางเมืองได้ เริ่มต้นจากภายในเขตท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จังหวัดสมุทรปราการ จากนั้นวิ่งเลียบทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 ตามแนวทางรถไฟสายตะวันออก แล้วเริ่มเข้าสู่เขตเมืองที่ย่านรามคำแหง, รัชดาภิเษก, ศูนย์คมนาคมมักกะสัน, พญาไท แล้วเข้าสู่เขตพระราชฐานที่บริเวณสวรรคโลก, เข้าสู่ศูนย์คมนาคมบางซื่อ และวิ่งเลียบถนนวิภาวดี-รังสิต แล้วไปยังท่าอากาศยานดอนเมืองทางด้านเหนือ รวมระยะทางทั้งโครงการในปัจจุบัน 28.6 กิโลเมตร
สำหรับยอดผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์เต็มรูปแบบวันแรกเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2553 มีผู้โดยสารใช้บริการในระบบซิตี้ไลน์ 26,149 คน จากเป้าที่ตั้งไว้ 15,000 คน ส่วนรถด่วนมีผู้ใช้บริการ 633 คน ทั้งนี้คาดว่าสิ้นปีนี้จะมีผู้ใช้บริการประมาณ 5-7 หมื่นคน
ปัจจุบันเส้นทางสายสุวรรณภูมิมีโครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายทั้งเส้นทางใต้ดินแบบคลองแห้งและยกระดับ จากปลายทางด้านทิศตะวันตก (สถานีพญาไท) ไปยังศูนย์คมนาคมบางซื่อและท่าอากาศยานดอนเมือง และจากทางด้านทิศตะวันออก (สถานีลาดกระบัง) ไปยังเขตจังหวัดฉะเชิงเทรา, จังหวัดชลบุรี และเดินทางไปถึงท่าอากาศยานอู่ตะเภา และเมืองพัทยาได้ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในระหว่างการออกแบบโครงการส่วนต่อขยายใหม่ทั้งหมด โดยจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างส่วนต่อขยายทางด้านทิศตะวันตกพร้อมๆ กับการก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อก่อน เนื่องจากอยู่ในแผนเร่งรัด 4 ปีของรัฐบาล
รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ เปิดให้บริการเต็มรูปแบบทั้งระบบรวมถึงระบบ In town Check-in วันอังคารที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2554 โดย นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม ปลัดกระทรวงคมนาคม ได้เข้าไปตรวจสอบความพร้อมของจุดเช็คอินและระบบสายพานลำเลียงกระเป๋าที่สถานีมักกะสันเมื่อวันที่ 19 ธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งระบบทุกอย่างพร้อมให้บริการแล้ว โดยสามารถใช้บริการได้ตั้งแต่วันที่ 4 มกราคมเป็นต้นไป ซึ่งสายการบินที่มาเปิดจุดเช็คอินคือ การบินไทย ลุฟต์ฮันซา และ บางกอกแอร์เวย์ โดยครอบคลุมเส้นทางบินกว่า 40 แห่ง และจะเริ่มใช้อัตราค่าบริการปกติในวันดังกล่าว (City Line 15-45 บาทคิดตามระยะทาง/Express Line เที่ยวละ 150 บาท)
ในวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2553 รถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีกำหนดเปิดให้บริการฟรี ในเวลา 07.00 - 10.00 น. และ 16.00 - 19.00 น. โดยมีความถี่ในการเดินรถ 20 นาที ให้บริการวันจันทร์ - วันศุกร์ เว้นวันเสาร์ - อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์
เนื่องจากเกิดสถานการณ์ความไม่สงบในกรุงเทพมหานคร การรถไฟแห่งประเทศไทยเกรงจะมีปัญหาการเข้ามาแทรกแซงการเปิดให้บริการในเส้นทางคมนาคมหลัก ๆ โดยเฉพาะเส้นทางไปยังสนามบินสุวรรณภูมิ จึงเลื่อนการเปิดให้บริการเดินรถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (Suvarnabhumi Airport Rail Link) หรือแอร์พอร์ตลิงก์ไปก่อนอย่างไม่มีกำหนด แต่ทางการถไฟฯ จะยังคงเดินหน้าทดสอบระบบเดินรถตามปกติ
การทดสอบการเดินรถโดยเปิดให้บริการฟรีแก่ประชาชน สามารถมาเริ่มดำเนินการได้ในวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2553 โดยเป็นการทดสอบตามกำหนดการเดิมที่เลื่อนจากวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2553 เดินรถสองช่วงเวลา 07.00 - 10.00 น. และ 16.00 - 19.00 น. จากสถานีพญาไท - สุวรรณภูมิ - พญาไท ไม่หยุดจอดรายทางและจะเริ่มเพิ่มสถานีจอดรับผู้โดยสารเพิ่มจนครบทุกสถานี
วันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2553 รฟท. ได้ประกาศขยายเวลาให้บริการเดินรถทั้งในช่วงเช้าและช่วงเย็น จากเดิม 6 ชม. เป็น 9 ชม. ต่อวัน โดยช่วงเช้าจะเปิดให้บริการตั้งแต่เวลา 06.00 - 10.00 น. จากเดิม 07.00 - 10.00 น. และช่วงเย็นให้บริการตั้งแต่เวลา 16.00 - 21.00 น. จาก 16.00 - 19.00 น.
วันที่ 23 สิงหาคม การรถไฟแห่งประเทศไทยได้เปิดให้บริการในเชิงพานิชย์อย่างเต็มรูปแบบ ตั้งแต่เวลา 06.00 - 24.00 น. โดยจะคิดค่าโดยสารเบื้องต้นคือ รถไฟฟ้าปกติ 15 บาทตลอดสาย และรถไฟด่วนพิเศษ (Express line) ไป-กลับ 100 บาท โดยสามารถรองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 50,000 คนต่อวัน
ในวันที่ 1 ธันวาคม 2553 นี้ บริษัท รถไฟฟ้า รฟท. จำกัด (SRTET) จะนำ Smart Card ออกมาใช้ ทั้งแบบ เบี้ย Token และ บัตรสมาร์ทพาส แบบ เดียวกับรถไฟใต้ดิน โดย บัตรและ Token สีแดงนั้นใช้กับ Express Line ส่วน บัตรและ Token สีน้ำเงินใช้กับ City Line
และในวันที่ 4 มกราคม 2554 ที่จะถึงนี้นั้น บริษัท รถไฟฟ้า รฟท. จำกัด จะเปิดให้บริการจุดเช็คอินที่โถงผู้โดยสารขาออกที่ชั้น 3 ของสถานีรับส่งผู้โดยสารอากาศยานภายในเมือง ซึ่งผู้โดยสารที่ต้องการใช้บริการ สามารถมาเช็คอินและโหลดกระเป๋าล่วงหน้าได้ที่นี่ โดยกระเป๋าสัมภาระ จะถูกขนโดยรถไฟขบวน Express Line ในแต่ละเที่ยว และจะถูกโหลดขึ้นเครื่องให้เอง ซึ่งในแต่ละไฟลท์นั้นจะปิดจุดเช็คอินก่อน 90 นาทีก่อนไฟลท์ออกจากสนามบิน โดยสายการบินที่มาเปิดให้บริการจุดเช็คอินได้แก่ การบินไทย ลุฟต์ฮันซา และบางกอกแอร์เวย์ ซึ่งครอบคลุมถึง 40 สายการบินด้วยกัน และในวันดังกล่าวจะมีการปรับอัตราค่าโดยสารขึ้นเป็นราคาปกติ คือสาย City Line อัตราค่าโดยสารเริ่มต้น 15 บาท สูงสุด 45 บาท คิดตามอัตราระยะทาง และสาย Express Line เที่ยวละ 150 บาท ซึ่ง นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม ปลัดกระทรวงคมนาคม ได้กล่าวยอมรับว่า ถ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ปรับอัตราค่าโดยสารเป็นปกตินั้น ยอดผู้โดยสารจะลดลงจากเดิม 50,000 คนต่อวันสำหรับสาย City Line และจากเดิม 800 คนต่อวันสำหรับสาย Express Line อย่างแน่นอน
หลังจากเปิดให้บริการ ต่างก็มีเสียงทั้งข้อดีและข้อติติงต่างๆ มากมาย โดยผู้ที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่
สำหรับผลประกอบการในปี พ.ศ. 2554 ทางบริษัทรถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ ยืนยันว่าไม่มีปัญหาการขาดสภาพคล่อง และยังมีสถานการณ์ดีขึ้นเรื่อยๆ เดิมคาดว่าจะขาดทุนตามแผนธุรกิจจำนวน 626 ล้านบาท แต่ขาดทุนจริงกว่า 27 ล้านบาทเท่านั้น โดยรับรายได้จากการเปิดประมูลพื้นที่เช่าเชิงพาณิชย์เพิ่มอีกประมาณ 50 ล้านบาท
ทั้งนี้ สถิติการใช้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ช่วงตั้งแต่ 1 มกราคม ถึง 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 พบว่ามีผู้โดยสารรถไฟฟ้าเฉพาะสาย City line เฉลี่ย 45,545 คนต่อวัน เพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี พ.ศ. 2556 ที่มีผู้โดยสารรถไฟฟ้าเฉพาะสาย City line เฉลี่ย 39,046 คนต่อวัน หรือเพิ่มขึ้น 16.65%
สำนักบริหารโครงการระบบรถไฟฟ้า การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ดำเนินการก่อสร้างโครงการระบบขนส่ง ทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และสถานีรับส่งผู้โดยสารอากาศยานในเมือง เพื่อเชื่อมเส้นทางระหว่างเมืองหลวงไปยังท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะทาง 28.6 ก.ม. (17.77 ไมล์) โดยใช้รถไฟฟ้าความเร็วสูงแบบทางคู่ ยกระดับขนานไปตามแนวเส้นทางทางรถไฟสายตะวันออก เพื่อให้บริการแก่ผู้โดยสารท้องถิ่นตลอดเส้นทาง รวมทั้งผู้โดยสารอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยมีรูปแบบการให้บริการและส่วนบริการเสริมเป็น 3 ลักษณะ
โดย ณ ปัจจุบัน รถไฟฟ้าด่วนท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ สายพญาไท-สุวรรณภูมิ และ สายมักกะสัน-สุวรรณภูมิ ได้ปิดให้บริการชั่วคราวนับตั้งแต่ 14 เมษายน และ 1 กันยายน 2557 ตามลำดับ เนื่องจากมีปัญหาด้านเทคนิคของขบวนรถไฟฟ้าด่วน ในขณะที่รถไฟฟ้า City Line ยังคงเปิดให้บริการตามปกติ
รถไฟฟ้าที่ใช้ในโครงการทั้งหมดเป็นรถไฟฟ้าประเภทความเร็วสูง ซึ่งมีความเร็วปกติอยู่ที่ 160-200 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่มีความเร็วขณะเข้าประแจที่ 40 - 60 กิโลเมตร/ชั่วโมง และมีความเร็วขณะเข้าประแจลงศูนย์ซ่อมบำรุงที่ย่านคลองตันที่ 125 กิโลเมตร/ชั่วโมง
โครงการรถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมินั้น ใช้ขบวนรถ Desiro UK Class 360 ซึ่งเป็นแบบเดียวกับรถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานฮีทโธรว์ ผลิตโดยบริษัทซีเมนส์ มีความเร็วสูงสุด 160 กม./ชม. ภายในขบวนรถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (คาดน้ำเงิน) จะมีเก้าอี้แบบแข็งสองแถวตั้งตามความยาวของตัวรถ เหมือนกับรถไฟฟ้าบีทีเอสและรถไฟฟ้ามหานคร ส่วนขบวนรถไฟฟ้าด่วนสุวรรณภูมิ (คาดแดง) จะเป็นเบาะกำมะหยี่ตั้งตำแหน่งตามความกว้างของรถ แบ่งเป็นสองแถว แถวละสองที่นั่ง โดยทั้งสองแบบล้วนปรับอากาศทั้งสิ้น
โครงการรถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิตามแผนแม่บทนั้น จะมีการเพิ่มส่วนต่อขยายของ City Line และ Express Line เพิ่มอีกทั้งหมด 2 ระยะดังนี้
สำหรับส่วนต่อขยายส่วนนี้มีแผนเพื่อรองรับผู้โดยสารจากทางสถานีกลางบางซื่อ ให้สามารถไปยังสถานีรับส่งผู้โดยสารอากาศยานในเมือง และท่าอากาศยานสุวรรณภูมิต่อไปได้ และผู้โดยสารจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิก็สามารถไปยังสถานีกลางบางซื่อได้เช่นเดียวกัน
เส้นทาง สายสุวรรณภูมิมีโครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายทั้งเส้นทางใต้ดินแบบคลองแห้งและยกระดับ จากทางด้านทิศตะวันออก ไปยังเขตจังหวัดฉะเชิงเทรา, จังหวัดชลบุรี และเดินทางไปถึงท่าอากาศยานอู่ตะเภา และเมืองพัทยาได้ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในระหว่างการออกแบบโครงการส่วนต่อขยายใหม่ทั้งหมด โดยจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างส่วนต่อขยายทางด้านทิศตะวันตกพร้อมๆ กับการก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อก่อน เนื่องจากอยู่ในแผนเร่งรัด 4 ปีของรัฐบาล
อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่ http://th.wikipedia.org/wiki/รถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ_สาย_City_Line